ประวัติความเป็นมาโรงพยาบาลไชยปราการ
ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีปรากฏว่าพระเจ้าพรหมกุมารได้มาตั้งเมืองไชยปราการ
ทางทิศตะวันออกของลำน้ำฝาง เมื่อ พ.ศ.1661 และเมืองไชยปราการนี้ เคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนาไทยสมัยหนึ่ง ต่อมาอารยธรรมแถบนี้เริ่มคลายตัวลงเมื่อ ปี พ.ศ.1839 เมื่อพญามังรายได้ย้ายศูนย์กลางจากเมืองเชียงราย ไปทางทิศใต้ และสร้างเมืองเชียงใหม่เป็นเมืองหลวงขึ้นใหม่บริเวณราบลุ่มแม่น้ำปิง
เมืองไชยปราการ เป็นเมืองที่แฝงไปด้วยความงดงามอันบริสุทธิ์ของธรรมชาติไว้มากมาย ยังเป็นเมืองเศรษฐกิจที่มีผลิตผลทาง
ด้านการเกษตรที่เชิดหน้าชูตาหลากหลาย ได้แก่ ลิ้นจี่ กระเทียม โคนม ฯลฯ ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยจึงได้เห็นความสำคัญในข้อนี้ อีกทั้งยังเห็นว่าสภาพท้องที่โดยทั่วไปเชื่อว่าจะมีความเจริญมากขึ้น และจะสามารถขยายตัวยิ่งขึ้นต่อไปในภายหน้า เพื่อประโยชน์ในด้านการปกครองและเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน เนื่องจากปัญหาความห่างไกลตัวเมืองฝาง จึงได้ประกาศจัดตั้งกิ่งอำเภอไชยปราการโดยแยกมาจากอำเภอฝาง ตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2531 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ.2530 และยกฐานะเป็นอำเภอไชยปราการ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2537
ทางด้านการสาธารณสุขนั้น แต่เดิมอำเภอไชยปราการ มีสถานีอนามัย 6 แห่ง ประชาชนต้องไปใช้บริการในโรงพยาบาลระดับชุมชนที่
โรงพยาบาลฝาง ต่อมาในปี พ.ศ. 2533 สภาตำบลศรีดงเย็นได้เสนอที่สาธารณประโยชน์ จำนวน 80 ไร่ แก่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อ
ตั้งเป็นโรงพยาบาลชุมชน ขนาด 10 เตียง โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นค่าก่อสร้าง จำนวนเงิน 7 ล้าน 4 แสนบาท
โดยมีพื้นที่ครอบครองทั้งหมด 58 ไร่ จึงนับว่าเป็นโรงพยาบาลชุมชนที่มีพื้นที่ครอบครองมากที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งแต่เดิมเป็นที่รกร้าง
ธารน้ำที่ตื้นเขิน ล้อมรอบด้วยป่าแขม ต้นเลา
โรงพยาบาลไชยปราการ เป็นโรงพยาบาลลำดับที่ 22 ของจังหวัดเชียงใหม่ เปิดบริการครั้งแรก ณ ที่ทำการชั่วคราว สถานีอนามัยห้วยไผ่
ตำบลหนองบัว กิ่งอำเภอไชยปราการ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2534 โดยใช้สถานีอนามัยห้วยไผ่เป็นจุดให้บริการ มีเจ้าหน้าที่ร่วมปฏิบัติงาน
เพียง 3 คน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของโรงพยาบาลไชยปราการ และมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบว่าได้มีโรงพยาบาลของรัฐเกิดขึ้นเพื่อ
ให้บริการผู้ป่วยนอกและฉุกเฉินในช่วงแรก เมื่อมีประชาชนมาใช้บริการมากขึ้น ปัญหาก็เริ่มตามมา คือการขาดวัสดุ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์
โรงพยาบาลไชยปราการ ได้ย้ายมาให้บริการเป็นโรงพยาบาล 10 เตียง ณ ที่ทำการปัจจุบันเมื่อ กรกฎาคม 2536 ซึ่งมีการให้บริการมากขึ้น
เนื่องจากได้รับวัสดุ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์บางส่วนเพิ่มขึ้น และได้รับจัดสรรเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้น แต่ต้องแก้ปัญหาเรื่องสาธารณูปโภค
ประปาและไฟฟ้าโดยการขุดบ่อน้ำตื้น ซึ่งโชคดีที่บริเวณที่ตั้งโรงพยาบาลเป็นแหล่งน้ำ (ชาวบ้านเรียกน้ำฮู หรือตาน้ำ)
สูบขึ้นแทงก์แล้วจ่ายประปาชั่วคราวและได้ปักเสาเดินสายไฟฟ้าชั่วคราวเองจึงสามารถทำการเปิดให้บริการได้ เมื่อมีผู้มารับบริการมากขึ้น
จึงรับบริการผู้ป่วยนอน เดือนกุมภาพันธ์ 2535 ทั้งๆ ที่ไม่มีเตียงและเสาน้ำเกลือแต่ผู้ป่วยก็ยินดีที่มาใช้บริการ โดยผู้ป่วยต้องนำเสื่อมาปูนอน
เอง และแขวนน้ำเกลือกับฝาผนัง ต่อมาเมื่อได้รับการจัดสรรเตียงและครุภัณฑ์การแพทย์ ก็รับผู้ป่วยในได้อย่างปกติ และได้กระทำพิธีเปิดป้าย
อาคารขนาด 10 เตียง อย่างเป็นทางการขึ้นในวันที่ 18 กันยายน 2536 จึงถือเป็นวันกำเนิดของโรงพยาบาลไชยปราการอย่างเป็นทางการ
และปี 2538 ได้รับบริจาคตึกสงฆ์อาพาธโดยท่านพระครูดวงคำ ฐานิสสโร (พระครูสถิตธรรมาภิรักษ์) พร้อมศานุศิษย์คุณแม่กาญจนา
เบญจรงคกุล เป็นห้องแบบแยกพิเศษขนาด 5 ห้องประชุม 1 ห้อง พร้อมอุปกรณ์ประจำตึก สาธารณูปโภคครบถ้วน
เมื่อเดือนธันวาคม 2540 โรงพยาบาลไชยปราการ ได้รับงบประมาณจัดสร้างอาคารเพิ่มเติมเพื่อยกระดับฐานะเป็นโรงพยาบาลขนาด
30 เตียง คือ อาคารผู้ป่วยนอกแบบ 2 ชั้นประกอบด้วยห้องตรวจผู้ป่วยนอก ห้องผ่าตัด ห้องคลอด ห้องบริการฉุกเฉิน ห้องตรวจฟัน
ห้องจ่ายยา ห้องชันสูตร ห้องเอกซเรย์ ชั้นบนเป็นส่วนงานการบริหารงานทั่วไป และห้องประชุม อาคารผู้ป่วยในขนาด 30 เตียง
พร้อมบริการห้องแยกแบบพิเศษจำนวน 6 ห้อง อาคารโรงครัวอาหาร ห้องซักฟอก ห้องนึ่งอบฆ่าเชื้อ อาคารโรงรถและโรงพัสดุ
และมีจำนวนผู้มารับบริการเพิ่มขึ้นตามลำดับปี 2545 ได้รับการจัดสรรรถบริการฉุกเฉินสำหรับส่งต่อผู้ป่วยเพิ่มอีกจำนวน 1 คัน
พร้อมอุปกรณ์ช่วยชีวิต เนื่องจากมีผู้ป่วยที่ต้องส่งรับการรักษาในจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มขึ้น
คำขวัญอำเภอไชยปราการ
“พระเจ้าพรหมสร้างเมือง รุ่งเรืองวัฒนธรรม งามล้ำถ้ำตับเตา เมืองเก่าไชยปราการ”
ลักษณะที่ตั้ง
อำเภอไชยปราการ เป็นอำเภอที่ 21 ในจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ประมาณ 510.9 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ
128 กิโลเมตร มีเขตรับผิดชอบ 4 ตำบล 44 หมู่บ้าน สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อน สลับกับที่ราบเชิงเขา
เป็นอำเภอที่มีภูเขาล้อมรอบถึง 3 ด้าน ได้แก่ ทิศใต้ ทิศตะวันออก และทิศตะวันตก มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอฝาง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอแม่สรวย (จังหวัดเชียงราย)
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอพร้าว
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเชียงดาว และรัฐฉาน (ประเทศพม่า)
สภาพภูมิอากาศ
อำเภอไชยปราการตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนบน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนปกคลุม ทําให้มีอากาศหนาวเย็นในฤดูหนาว
อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี 25.8 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 32.2 องศาเซลเซียส โดยมีอากาศร้อนที่สุดอยู่ในเดือนเมษายน
อุณหภูมิสูงที่สุดวัดได้ 42.5 องศาเซลเซียส ส่วนฤดูหนาวมีอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 20.8 องศาเซลเซียส
โดยมีอากาศหนาวที่สุดอยู่ในเดือนมกราคม อุณหภูมิต่ำที่สุด 3.7 องศาเซลเซียส มีฝนตกชุกในเดือนมิถุนายน ถึง สิงหาคม
โดยปริมาณฝนตกเฉลี่ย 1,184.9 มิลลิเมตรต่อปี
อำเภอไชยปราการประกอบด้วย 4 ตำบล 44 หมู่บ้าน 2 เทศบาล 2 องค์การบริหารส่วนตำบล โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- เทศบาลตำบลไชยปราการ ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ดังนี้
ตำบลปงตำ 8 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 1 บ้านปงตำ, หมู่ที่ 2 บ้านท่า, หมู่ที่ 3 บ้านปางควาย, หมู่ที่ 4 บ้านมิตรอรัญ,
หมู่ที่ 5 บ้านป่ารวก, หมู่ที่ 6 บ้านห้วยม่วง, หมู่ที่ 7 บ้านห้วยบง, หมู่ที่ 8 บ้านทุ่งยาว
ตำบลหนองบัว 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 1 บ้านเด่น, หมู่ที่ 2 บ้านห้วย, หมู่ที่ 3 บ้านหนองบัว
ตำบลศรีดงเย็น 9 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 1บ้านแม่ขิ, หมู่ที่ 2 บ้านแม่ขิหล่ายฝาง, หมู่ที่ 3 บ้านศรีดงเย็น,
หมู่ที่ 4 บ้านอินทาราม, หมู่ที่ 5บ้านอ่าย, หมู่ที่ 7 บ้านทรายขาว, หมู่ที่ 9 บ้านดงป่าสัก, หมู่ที่ 15 บ้านเชียงหมั้น,
หมู่ที่ 17 บ้านด้ง
- เทศบาลตำบลหนองบัว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองบัว 11 หมู่บ้าน ดังนี้
หมู่ที่ 1 บ้านเด่น, หมู่ที่ 2 บ้านห้วยไผ่, หมู่ที่ 3 บ้านหนองบัว, หมู่ที่ 4 บ้านทา, หมู่ที่ 5 บ้านต้นโชค,
หมู่ที่ 6 บ้านสันติวนา, หมู่ที่ 7 บ้านปง, หมู่ที่ 8 บ้านปาง, หมู่ที่ 9 บ้านป่าไม้แดง, หมู่ที่ 10 บ้านใหม่หนองบัว,
หมู่ที่ 11 บ้านถ้ำผาผึ้ง (จำนวนหมู่บ้านที่มีพื้นที่คาบเกี่ยวกับเทศบาลไชยปราการ หมู่ที่ 1, 2, 3)
- องค์การบริหารส่วนตำบลศรีดงเย็น ครอบคลุมพื้นที่ตำบลศรีดงเย็น 18 หมู่บ้าน ดังนี้
หมู่ที่ 1 บ้านแม่ขิ, หมู่ที่ 2 บ้านแม่ขิหล่ายฝาง, หมู่ที่ 3 บ้านศรีดงเย็น, หมู่ที่ 4 บ้านอินทาราม, หมู่ที่ 5
บ้านอ่าย, หมู่ที่ 6 บ้านร้องธาร, หมู่ที่ 7 บ้านทรายขาว, หมู่ที่ 8 บ้านหนองป่าซาง, หมู่ที่ 9 บ้านดงป่าสัก, หมู่ที่ 10
บ้านหัวฝาย, หมู่ที่ 11 บ้านกิ่วจำปี, หมู่ที่ 12 บ้านสันทราย, หมู่ที่ 13 บ้านถ้ำหนองเบี้ย, หมู่ที่ 14 บ้านปางมะขามป้อม,
หมู่ที่ 15 บ้านเชียงหมั้น, หมู่ที่ 16 บ้านแพะเศรษฐี, หมู่ที่ 17 บ้านด้ง, หมู่ที่ 18 บ้านเวียงผาพัฒนา
(จำนวนหมู่บ้านที่มีพื้นที่คาบเกี่ยวกับเทศบาลไชยปราการ หมู่ที่ 1, 2, 3, 4, 5, 7, 9, 15, 17)
- องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทะลบ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแม่ทะลบ 7 หมู่บ้าน ดังนี้
หมู่ที่ 1 บ้านแม่ทะลบ, หมู่ที่ 2 บ้านป่าแดง, หมู่ที่ 3 บ้านป่างิ้ว, หมู่ที่ 4 บ้านดอยหล่อ, หมู่ที่ 5
บ้านดงฉิมพลี, หมู่ที่ 6 บ้านใหม่พัฒนา, หมู่ที่ 7 บ้านห้วยต้นตอง
ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา ทำสวน เช่น กระเทียม หอม ลิ้นจี่ ลำไย ฯลฯ อาชีพรองลงมาเลี้ยงสัตว์
เช่น โคนม การประมง เช่น ปลาน้ำจืด เป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดรายได้ไม่สูงนัก เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกที่เป็นที่ราบมีน้อย
และประชาชนมีพื้นที่ที่ถือครองไม่มากนัก บางส่วนไปขายแรงงานต่างถิ่นและไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งนำรายได้มาสู่ภูมิลำเนาค่อนข้างสูง
ทำให้ฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น สามารถส่งบุตรหลานเรียนหนังสือได้มากขึ้น ส่วนน้อยเป็นข้าราชการ